หน้าแรกTHAI STOCKวิรไท อดีตผู้ว่า ธปท. ชี้ธุรกิจแข่งขันไม่เป็นธรรม ปลายักษ์กินปลาเล็ก

วิรไท อดีตผู้ว่า ธปท. ชี้ธุรกิจแข่งขันไม่เป็นธรรม ปลายักษ์กินปลาเล็ก

วิรไท อดีตผู้ว่า ธปท. ชี้ปรากฏการณ์ธุรกิจ มีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ปลาใหญ่กินปลาเล็กอาจจะไม่เพียงพอ บางช่วงเราอาจจะเห็นปลายักษ์กินปลาเล็กด้วยซ้ำไป  เห็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จากอำนาจทุนใหญ่ เรื่องเหล่านี้เป็นจุดที่ต้องระมัดระวังไม่ทำให้สังคมเปราะบางลงไปอีก

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและเลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในงานสัมมนา ThaiPublica Forum 2022 “ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน” ว่า สถานการณ์ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็น่ากังวล แม้ไม่เจอสภาวะขาดแคลนอาหาร แต่สภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งไทยถูกจัดเป็นประเทศที่ได้รับความรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เพราะวิถีชีวิตคนไทยครึ่งหนึ่งอาศัยภาคเกษตร รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง ที่ราบต่ำ และอุตสาหกรรมบริการ แหล่งท่องเที่ยวก็เป็นพื้นที่ชายฝั่ง ส่วน กทม. ก็อยู่สภาวะจมน้ำ วันนี้ในประเทศไทยเพิ่งพูดกันเรื่องเศรษฐกิจเพื่อสังคมคาร์บอนต่ำ โดยในการพูดกันก็เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ การพูดคุยกันยังไม่กระจายไปสู่วิถีชีวิต และพูดกันน้อยมาก ๆ ในแผนการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งกระทบต่อชีวิตทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในต่างประเทศมีการเตรียมแผนรองรับแล้ว แต่สังคมไทยยังเป็นเรื่องที่ยังไม่มีการได้รับความสำคัญ

ขณะที่วิกฤตทางด้านสังคม และธรรมาภิบาล ก็อาจจะอยู่ใกล้จุดพลิกผัน (Tipping Point) มากขึ้น โดยหากก้าวข้ามจุด Tipping Point จะแพร่กระจายทวีคูณ และการดึงเข้ามาระดับต่ำจะทำได้ยาก ซึ่งเป็นต้นทุนต่อสังคม และวิถีชีวิตที่เพิ่มสูงมากขึ้น โดย Tipping Point ที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นการปล่อยก๊าชเรือนกระจกที่ทำให้เกิดโลกร้อน และอีกเรื่องที่ประเทศไทยก้าวข้าม Tipping Point ไปแล้ว คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทำให้เราเป็นสังคมผู้สูงอายุ และกำลังจะก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์

นอกจากนี้ เรื่องที่เราจะต้องระมัดระวังไม่ให้ก้าวข้าม Tipping Point ในด้านสังคม และธรรมาภิบาล ก็คือ เรื่องปัญหาคอร์รัปชั่น หากปล่อยให้ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นบรรทัดฐานที่ยอมรับได้ในสังคม จะแก้ปัญหาได้ยากและมีผลกระทบที่กว้างไกล โดยแนวโน้มที่ผ่านมา ดัชนีคอร์รัปชั่นของไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ลดลงต่อเนื่องทุกปี จากปี 2561 อยู่อันดับ 96 และในปี 2564 อยู่ที่อันดับ 110 แสดงให้เห็นปัญหาที่รุนแรง

พร้อมกันนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมก็สำคัญ อย่าปล่อยให้ก้าวข้าม Tipping Point ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำของคนข้ามรุ่น หรือระหว่างรุ่น ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส โดยเมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมที่ผ่านมาอาจจะพูดถึงความเหลื่อมล้ำของสินทรัพย์ หรือความเหลื่อมล้ำเรื่องของรายได้ โดยชัดเจนและมีความกว้างค่อนข้างมาก แต่หากปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น และด้านโอกาสจะยิ่งน่ากลัว โดยเห็นได้ชัดจากด้านการศึกษา จะส่งผลให้การศึกษา ซึ่งเป็นบันไดทางสังคม วันนี้บันไดนั้นดูเหมือนจะให้โอกาสน้อยลง สำหรับคนที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่ได้ฐานะดี

นายวิรไทกล่าวว่า ยังมีความกังวลจากเส้นแบ่งของดิจิทัล โดยการเข้าถึงบริการดิจิทัลเทคโนโลยี จะส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาสให้สูงขึ้น เราเห็นธุรกิจขนาดใหญ่มีฐานะทางสังคมเข้าถึงเทคโนโลยีได้มาก จากต้นทุนที่ถูก ความสามารถในการแข่งขันก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในระดับด้านล่างของสังคม และอีกด้านหนึ่งที่ต้องระวัง คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยมีความเปราะปรางอยู่มาก อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นในสังคม หากไม่ระมัดระวังและช่วยกันแก้ไข

“ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ได้นำไปสู่ความแตกต่างทางความคิดของคนหลากหลายกลุ่ม โดยการแตกต่างทางความคิดนำไปสู่ความแตกแยกทางความคิด ทำให้สังคมไทยมีความเปราะบาง ทำให้เราไม่สามารถสร้างพลังร่วมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เท่าทันกับความท้าทายใหม่ ๆ นอกจากนี้ เรายังเห็นแวดวงธุรกิจที่มีการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม เรื่องปลาใหญ่กินปลาเล็กอาจจะไม่เพียงพอ บางช่วงเราอาจจะเห็นปลายักษ์กินปลาเล็กด้วยซ้ำไป เราเห็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จากอำนาจทุนใหญ่ เรื่องเหล่านี้เป็นจุดที่ต้องระมัดระวังไม่ทำให้สังคมเปราะบางลงไปอีก”

ทั้งนี้ หากคิดในกรอบ ESG ที่ธุรกิจในตลาดทุนคุ้นเคยกันดี กรอบในเรื่องของความยั่งยืนในโลกตะวันตกอาจจะเน้นสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาของไทย เราต้องให้ความสนในเรื่องสังคม และธรรมาภิบาล หากแก้ปัญหาด้านสังคม และธรรมาภิบาลไม่ได้ หรือปล่อยให้ปัญหาก้าวข้าม Tipping Point ไปมากขึ้น เราก็จะไม่มีทางรักษาสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน ฉะนั้น การวางยุทธศาสตร์แบบสังคมไทยต้องวางความคิดแบบองค์รวม ดูความเชื่อมโยงกัน เราจะต้องร่วมกันใส่ใจความยั่งยืนอย่างจริงจัง

“คนทั่วไปมักจะพูดกันว่าการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของภาครัฐ แต่คิดว่าคงไม่พอเมื่อเทียบกับขนาดและความท้าทายที่เผชิญอยู่ ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องใดก็ตาม ต้องมุ่งไปสู่ต้นเหตุของปัญหา โดยปัญหาความยั่งยืนเกิดจากการทำธุรกิจของเราทุกคน ดังนั้น ความยั่งยืนจึงเป็นโจทย์ร่วมของเราทุกคน เพราะหากดูแลไม่ได้จะเป็นต้นทุนชีวิตของเราทุกคน โดยธุรกิจจะต้องวางเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นยุทธศาสตร์องค์กร จะไม่ใช่เพียงการ CSR ต้องมีการวิเคราะห์วางแผนติดตาม ทำความเข้าใจ มีความคิดที่ต้องการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น”

  • บรรยง พงษ์พานิช ไล่ซื้อหุ้น KKP เข้าพอร์ต 5 แสนหุ้น
  • ศุลกากรเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยพุ่ง 2.2 พันล้าน ชี้คนไทยแห่นำเข้าแบรนด์เนม
  • ข้อมูลส่วนบุคคลรั่ว เสี่ยงอะไรบ้าง ? ตำรวจแนะ 3 วิธีลดความเสี่ยง

อ่านข่าวต้นฉบับ: วิรไท อดีตผู้ว่า ธปท. ชี้ธุรกิจแข่งขันไม่เป็นธรรม ปลายักษ์กินปลาเล็ก

     

คำแนะนำการอ่านบทความนี้ : บางบทความในเว็บไซต์ ใช้ระบบแปลภาษาอัตโนมัติ คำศัพท์เฉพาะบางคำอาจจะทำให้ไม่เข้าใจ สามารถเปลี่ยนภาษาเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ หรือปรับเปลี่ยนภาษาในการใช้งานเว็บไซต์ได้ตามที่ถนัด บทความของเรารองรับการใช้งานได้หลากหลายภาษา หากใช้ระบบแปลภาษาที่เว็บไซต์ยังไม่เข้าใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยคลิกลิ้งค์ที่มาของบทความนี้ตามลิ้งค์ที่อยู่ด้านล่างนี้


Source link : ต้นฉบับเนื้อหาข่าวนี้

RELATED ARTICLES
- Advertisment -
Technical Summary Widget Powered by Investing.com

ANALYSIS TODAY

Translate »